เกริ่นนำ

หลายท่านคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “ทุกปัญหา ล้วนมีทางออกเสมอ” กันมาบ้างแล้ว และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ ใหญ่ระดับประเทศก็ว่าได้ เนื่องจากในอดีต ประเทศไทย ประเทศเกษตรกรรม มีปัญหาที่ว่า เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมให้สารเคมีในการเพิ่มปริมาณผลผลิตและใช้กำจัดวัชพืชและแมลง ซึ่งแม้จะสะดวกรวดเร็วก็จริง แต่มันส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของเกษตรกร รวมไปถึงผู้บริโภคด้วย เมื่อเกษตรกรมีปัญหาสุขภาพเข้ามารุมเร้า ก็จะมีรายจ่ายในการรักษาที่มากขึ้น และต้องจ่ายมากขึ้นอีกเพื่อซื้อสารเคมีมาเพิ่มเนื่องจากหยุดใช้ไม่ได้ ก็ยิ่งเกิดหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสารเคมีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อดินและสิ่งแวดล้อมโดยตรง ทำให้เสื่อมสภาพลง และต้องใช้มากขึ้น เพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ไม่มีสิทธิ์ในการกำหนดราคาผลผลิต ทำให้โดนเอาเปรียบโดยพ่อค้าคนกลาง ทำให้รายรับที่ได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายส่วนตัว และค่าสารเคมีที่มีราคาสูงขึ้นทุกวัน ยิ่งทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น กลายเป็นวัฎจักรไม่มีที่สิ้นสุด....

และแล้วกลอนที่ล็อคอย่างแน่นหนาก็ไขออกได้... เมื่อเกิดการรวมกลุ่มกัน และหลายๆ ฝ่ายช่วยกันแก้ไขปัญหา เกษตรกรกล้าที่จะเลิกใช้สารเคมี เพราะพบหนทางที่ดีกว่า ทำให้ต้นทุนลดลงอย่างเห็นได้ชัด รายจ่ายจึงน้อยลง หนี้สินลดลง สุขภาพเกษตรกรจึงดีขึ้น นำไปสู่ระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ทำให้ธรรมชาติกลับสู่ความสมดุล และเกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่ตนพอใจ


ความเป็นมา...น่าสนใจ

จากปัญหาข้างต้นที่กล่าวมา ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรจากอำเภอสามพรานและพื้นที่ใกล้เคียงรวมตัวกันในชื่อว่า “กลุ่มธุรกิจเชิงคุณค่าสามพรานโมเดล” ร่วมกับการสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ ทั้งชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกร เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตรสู่สินค้าปลอดภัยและสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งก่อให้เกิดโครงการ “สามพรานโมเดล” ขึ้น เพื่อเป็นการเชื่อมกันระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ห่วงโซ่คุณค่าอินทรีย์สู่ผู้บริโภคบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ โปร่งใส และเป็นธรรม เกิดเป็นรูปธรรมผ่านช่องทางการตลาดโดยพัฒนาเป็นตลาดชุมชนในชื่อว่า “ตลาดสุขใจ” เป็นตลาดต้นแบบในเรื่องการบริโภคอาหารปลอดภัย และสินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าออร์แกนิกของเกษตรกรในพื้นที่ และยังเป็นสถานที่ที่เกษตรกรจะนำสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้สินค้ามีคุณภาพดี ปลอดภัย และมีราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการจัดวันสังคมสุขใจ เพื่อให้ทุกคนได้มาพบปะแลกเปลี่ยนกันและกัน นำไปสู่การต่อยอดธุรกิจในการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน ตลาดสุขใจยังได้ขยายผลไปในสถานที่ต่างๆ ตามองค์กร และหน่วยงานย่านธุรกิจใหญ่ๆ อาทิเช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ธนาคารกรุงไทย สำนักงานใหญ่ สำนักงานนายกรัฐมนตรี เป็นต้น เพื่อให้เกิดการกระจาย “สังคมสุขใจ” ออกไปทั่วประเทศ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับดีมาก เนื่องจากเป็นตลาดต้นแบบที่มีการบริหารงานอย่างเป็นระบบ รวมทั้งเป็นสื่อกลางในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเป็นการรณรงค์ให้คนในสังคมหันมาสนใจเรื่องเกษตรปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ จากความนิยมและการมีผลตอบรับที่ดี ทำให้ “งานสังคมสุขใจ” จัดขึ้นมา 3 ครั้งแล้ว ซึ่งครั้งแรกจัดในปี 2557 โดยต้องการที่จะเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และฟื้นชื่อเสียง อำเภอสามพราน “แหล่งปลูกผักผลไม้คุณภาพดี” เพื่อพัฒนาอำเภอสามพรานให้เป็นชุมชนแห่งความสุข ปลอดสารเคมี เป็นแหล่งใหญ่ในการผลิตสินค้าอินทรีย์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รวมถึงการทำเกษตรอินทรีย์ และกระตุ้นความต้องการผลผลิตอินทรีย์ของผู้บริโภคให้มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรในอำเภอสามพรานตระหนักถึงความสำคัญ ปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการทำเกษตร ตั้งแต่ต้นทาง ตัวผู้ปลูก เรื่องดิน เรื่องน้ำ ผลิตผล รวมถึงระบบการตลาด โดยทำแบบครบวงจร เพื่อหวังเปลี่ยนจากเกษตรกรเคมีสู่วิถีเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน ครั้งที่ 2 จัดขึ้นในปี 2558 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วน ทั้งกลุ่มครอบครัวถึงคนเมืองรุ่นใหม่ ที่อยากปลูกผักกินเองแต่ไม่มีพื้นที่ และครั้งที่ 3 จัดขึ้นในปี 2559 โดยต้องการที่จะให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประเทศชาติ เพื่อสานต่อพระราชปณิธาน หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

ในด้านของภาคีจากหน่วยงาน และองค์กรที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนั้น นอกจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “สกว.” และ สสส. แล้วนั้น ยังมีหลายหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญอย่างมาก ทั้งในระดับต้นน้ำ ได้แก่ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กรมพัฒนาที่ดิน สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมการค้าภายใน สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ระดับกลางน้ำ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน และกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และระดับปลายน้ำ ได้แก่ สสปน. สมาคม TICA และสมาคม THA การท่องเที่ยงแห่งประเทศไทย (ททท.) และกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่สำคัญคือ การมีที่ปรึกษาการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว คือ สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ และถอดบทเรียนโครงการ โดย คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน

ปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์กรมหาชน) หรือ ทีเส็บ ร่วมกับโครงการสามพรานโมเดล ร่วมกับอีก 13 พันธมิตร ลงนาม MOU โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการไมซ์จัดซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรโดยตรง (Farm to Function) โดยร่วมมือกับ กลุ่มข้าวสัจธรรมอำนาจเจริญ ส่งมอบข้าวออร์แกนิกที่ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์นานาชาติแบบไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นการรวมกลุ่มของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไมซ์ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น MICE Sustainable Destination โดยจะก่อให้เกิดประโยชน์ใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2) การที่ภาคเอกมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม และ 3) การมีส่วนร่วมของชุมชน เกิดการกระจายรายได้ และปัจจุบันยังได้มีการประชุมกับเกษตรกรประจำเดือน โดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิสังคมสุขใจ โดยให้ความรู้ แนวทางการผลิตเกษตรกรระบบอินทรีย์ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานระบบการระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) นอกจากนี้คุณอรุษ นวราช ผู้ริเริ่มและดำเนินโครงการ พร้อมเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ยังได้มีการหารือเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการผลิตข้าวอินทรีย์ พร้อมวางแผนการผลิตให้เชื่อมโยงกับช่องทางการตลาด เพื่อลดความเสี่ยงการล้นตลาดอีกด้วย โดยปัจจุบันกลุ่มข้าวสุขใจออร์แกนิก มีสมาชิกทั้งสิ้น 17 คน มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 120 กว่าไร่ ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐาน IFOAM และ PGS แล้ว 11 คน อีก 6 คนสนใจทำนาระบบอินทรีย์

กระบวนการวิจัย

กระบวนการวิจัยของเครือข่ายกลุ่มธุรกิจเชิงคุณค่าสามพราน เริ่มจากการริเริ่มของแกนนำและภาคีที่ตระหนักในเรื่องมลภาวะและสิ่งแวดล้อมของชุมชนอำเภอสามพราน ขั้นตอนที่สองเป็นการสนับสนุนของภาคีภาควิชาการในการวิเคราะห์สถานการณ์ และวางกรอบแนวทางแก้ปัญหาเชิงระบบ และมององค์รวม ขั้นตอนที่สาม เป็นการจัดตั้งกลุ่มธุรกิจเชิงคุณค่า ภายใต้ปณิธานร่วมของภาคีชุมชนสู่สังคมเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ขั้นต่อมา คือ การใช้กลไกตลาดชุมชน ภายใต้แบรนด์ “ตลาดสุขใจ” มาสร้างความเชื่อมั่นและเป็นศูนย์เรียนรู้แก่เกษตรกรและผู้บริโภคให้ผลิตสินค้าเกษตรอย่างปลอดภัย ขั้นที่ห้า คือ การเชื่อมโยงเครือข่ายภายใต้โซ่อุปทานระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อยกระดับสินค้าให้ผ่านมาตรฐานรับรอง ขั้นที่หก คือ การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์แก่ชุมชน ยกระดับมาตรฐานตลาดสุขใจสู่สากลและเผยแพร่สู่สาธารณะ และสุดท้ายคือขั้นตอนการจัดตั้งมูลนิธิ “สังคมสุขใจ” เพื่อส่งเสริมสนับสนุนสู่สังคมสุขใจ

รางวัล...น่าภาคภูมิใจ

- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดพิธีมอบรางวัล ผลงาน/โครงการวิจัยเด่น ประจำปี 2556 โครงการ “เครือข่ายธุรกิจเชิงคุณค่าสามพราน” เพื่อเผยแพร่งานวิจัยที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคมให้มีการต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ เป็นการประกาศเกียรติคุณให้แก่คณะวิจัย นำโดยคุณอรุษ นวราช หัวหน้าโครงการวิจัยกลุ่มธุรกิจเชิงคุณค่าสามพราน พร้อมด้วยนักวิจัย และภาคีเครือข่าย

- โรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ ได้รับรางวัล SVN Awards ประเภทภาคธุรกิจดีเด่น ประจำปี 2557 ด้านการขับเคลื่อนให้มีแหล่งอาหารปลอดภัยของชุมชน โดยไม่หวังผลกำไร ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเกษตรกร นักวิชาการ นักบริหารรุ่นใหม่ด้วยหลักธรรมาภิบาล

บทสรุป...โดยข้อคิดดีๆ

จะเห็นได้ว่าโครงการของเครือข่ายดังกล่าว เกิดประโยชน์อย่างล้ำค่าและสอดคล้องอย่างยิ่งกับหลักปรัชญาของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9

“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่ เป็นอันพอควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศ และของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2517

Case Study Sampran Model

      

      

      

View:4484