เกริ่นนำ

ในอดีต.... ปัญหาของเกษตรกร คือ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เนื่องมาจากรายรับที่น้อยเพราะการใช้สารเคมี และการโดนกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ...แต่ปัจจุบัน แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าทางความรู้และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นทำให้เกษตรกรโดยส่วนมากหันมาพึ่งพาการใช้สารอินทรีย์แทนสารเคมี แต่ก็ยังพบว่าเกษตรกรยังคงประสบปัญหาอยู่ และยังคงเป็นเรื่องของราคาของผลผลิตที่ตกต่ำ เนื่องจากขาดอำนาจในการต่อรอง เพราะไม่มีแหล่งรับซื้อข้าวอินทรีย์เป็นการเฉพาะ ดังนั้น ราคาของสินค้าดังกล่าวจึงไม่แตกต่างจากราคาของข้าวโดยทั่วไป ทั้งๆ ที่ข้าวอินทรีย์นั้นจำเป็นต้องทำอย่างพิถีพิถัน และมีกระบวนการที่ต้องดูแลเอาใจใส่มากกว่าข้าวเคมี แต่ก็ยังประสบปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบ ทำให้กลุ่มเกษตรกรจะนิ่งเฉยไม่ได้ และหาทางออกให้กับตัวเองในที่สุด...


ความเป็นมา...น่าสนใจ

ในราวปี พ.ศ. 2554 เกิดกลุ่มผู้คนที่รักในท้องถิ่นของตน ริเริ่มหาทางออกจากปัญหา ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอำนาจเจริญ ได้ตกลงร่วมกันจัดตั้ง “กลุ่มข้าวสัจธรรมอำนาจเจริญ” โดยตั้งสัจจะร่วมกันที่จะทำการเกษตรอินทรีย์ พัฒนาความเข้มแข็งของท้องถิ่น ชุมชน ไม่หลอกลวงซึ่งกันและกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน โดยนำแบบอย่างการพัฒนามาจาก “กลุ่มข้าวคุณธรรม” จังหวัดยโสธรมา เริ่มแรกมีกลุ่มผู้ก่อการเพียง 6 กลุ่ม คือ กลุ่มวิสาหกิจโนนค้อทุ่ง กลุ่มบ้านนาผาง กลุ่มบ้านโนนหนามแท่ง กลุ่มบ้านโคกกลาง กลุ่มบ้านหนองเม็ก กลุ่มตำบลน้ำปลีก สมาชิก 55 ราย ยื่นขอตรวจรับรองมาตรฐานของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็น “เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนข้าวสัจธรรมอำนาจเจริญ”

ในปี พ.ศ. 2556 ช่วงที่เกษตรกรเผชิญปัญหาเรื่องราคา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐด้านการประกันราคาข้าว เกษตรกรแกนนำที่เป็นสมาชิกเครือข่ายข้าวคุณธรรม จึงได้ชักชวนสมาชิกเครือข่ายข้าวสัจธรรม เข้าร่วมในโครงการวิจัยการยกระดับมูลค่าเพิ่มข้าวอินทรีย์ เพื่อยกระดับมูลค่าเพิ่มข้าวอินทรีย์ และเพื่อให้สถาบันเกษตรกรสามารถยืนหยัด ร่วมมือกันแก้ปัญหาบนการพึ่งพาและร่วมมือกัน มีความรู้และทักษะ

ปัจจุบัน เครือข่ายวิสาหกิจข้าวสัจธรรมอำนาจเจริญ มีสมาชิกรายกลุ่มจำนวน 22 กลุ่ม สมาชิกรายบุคคล 300 ราย พื้นที่รับรองเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด 5,799 ไร่ ได้รับรองการรับรองมาตรฐาน (IFOAM และ EU) จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) สมาชิกกระจายตัวคลอบคลุมพื้นที่ทุกอำเภอของจังหวัดอำนาจเจริญ เครือข่ายฯ มีเจตนารมณ์และความมุ่งหวังร่วมกัน ที่จะพัฒนาตนเอง พัฒนากลุ่ม ให้เป็นเกษตรอินทรีย์ที่เข้มแข็ง ครบวงจร สามารถพึ่งพาตนเอง พึ่งพาซึ่งกันและกัน และมุ่งมั่นที่จะรวบรวมเกษตรกรให้หันมาเพาะปลูกด้วยระบบอินทรีย์คุณภาพจากแปลงนา และปัจจุบัน เครือข่ายฯมีการสร้างพันธมิตรการตลาดกับกลุ่มธุรกิจโรงแรมและผู้บริโภคที่สนใจในการบริโภคข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และการสนับสนุนสถาบันเกษตรกร

กระบวนการวิจัย

ขั้นตอนการวิจัยในที่นี้จะใช้รูปแบบของการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อมาเป็นแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอน เริ่มจากการจัดเวทีสนทนากลุ่มเป้าหมายกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์การเชื่อมโยงเครือข่ายคุณค่า รวมถึงการจัดการความรู้และพัฒนาโซ่คุณค่า เพื่อการยกระดับมูลค่าเพิ่มในแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ขั้นตอนต่อมา คือ การสนับสนุนการวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์ร่วมกับภาคีเครือข่ายภายใต้โซ่คุณค่า และการพัฒนาโครงสร้างการบริหารงานองค์กรเครือข่าย ขั้นตอนที่สาม คือ การให้คำปรึกษา การจัดทำแผนธุรกิจ และการขับเคลื่อนแผนธุรกิจร่วมกับภาคีเครือข่ายสู่เป้าหมายร่วม และขั้นตอนสุดท้ายเป็นการประเมินผล สรุปบทเรียน ตลอดจนการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และยุทธศาสตร์

รางวัล...น่าภาคภูมิใจ

ในปี พ.ศ. 2557 เครือข่ายวิสาหกิจข้าวสัจธรรมได้รับรางวัลแห่งความภูมิใจ และยังเป็นเครื่องการันตีคุณภาพด้วย โดยเครือข่ายดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดข้าวหอมมะลิของไทย ปีการผลิต 2556/2557 ประเภทกลุ่มเกษตรกร จัดโดย กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ อันเป็นความน่าภาคภูมิใจแก่เกษตรกรและคนในชุมชนข้าวสัจธรรม จังหวัดอำนาจเจริญอย่างมาก


บทสรุป...โดยข้อคิดดีๆ

เครือข่ายฯ มีเจตนารมณ์และความมุ่งหวังร่วมกัน ที่จะพัฒนาตนเอง พัฒนากลุ่ม ให้เป็นเกษตรอินทรีย์ที่เข้มแข็ง ครบวงจร สามารถพึ่งพาตนเอง พึ่งพาซึ่งกันและกัน และมุ่งมั่นที่จะรวบรวมพี่น้องเกษตรกรของเราชาวอำนาจเจริญ ให้หันมาเพาะปลูกด้วยระบบอินทรีย์คุณภาพจากแปลงนา ส่งถึงมือผู้บริโภค ด้วยใจรัก ประดุจญาติพี่น้อง มุ่งสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ถ่ายทอดจากรุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อกันไป

 

ความรู้ดีๆ...มีเพิ่มเติม

 

View:3836