เกี่ยวกับโครงการ Farmer Shop!

Update 10 Jan 2012

Farmer Shop เป็นโครงการนำร่องเพื่อการพัฒนาและดำเนินการตัวแบบร้านค้าปลีกชุมชน ที่ได้นำเอา ชุดความรู้ด้านการบริหารจัดการโซ่อุปทานอย่างบูรณาการมาใช้ในการออกแบบระบบการดำเนินงานวิจัย โดยกระบวนการวิจัยจะครอบคลุมการดำเนินการ ตั้งแต่การสร้างเครือข่ายอุปทาน การพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสินค้าและการพัฒนาบรรจุภัณฑ์การวางระบบ จัดหา และตรวจสอบย้อนกลับ การบริหารจัดการ ร้านค้าปลีกและการสร้างแบรนด์ Farmer Shop โดยคาดหวังจะให้เกิดเป็นตัวแบบร้านค้าปลีกทางเลือก ที่ขยายผลไปจัดตั้งในชุมชน สหกรณ์และในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้าน การลดปัญหาข้อจำกัดของผู้ประกอบการรายย่อยที่ผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีค่าใช้จ่ายการตลาดสูง อีกทั้งเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคที่มีแหล่งจำหน่ายสินค้าคุณภาพ ราคาเป็นธรรม

ภายใต้สโลแกน "ไม่ได้หวังที่กำไร แค่อย่ากให้เป็นลูกค้าประจำ" และวิสัยทัศน์ "ร้านค้าปลีกที่ผู้ผลิต และผู้บริโภคเป็นเจ้าของร่วมกัน" จึงคาดหวังว่า ตัวแบบ "Farmer Shop" จะมีผลลัพธ์ในรูปแบบของ ระบบธุรกิจเชิงคุณค่าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายใต้โซ่อุปทานที่ตระหนักในระบบคุณค่าและการค้าที่เป็นธรรม จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนหรือพันธมิตรธุรกิจร่วมกัน ในขณะเดียวกัน กลไกของ Farmer Shop ก็จะรณรงค์ให้ ประชาชนในสังคม หันมาอุดหนุนสินค้าไทย ภายใต้แบรนด์ Farmer Shop ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบด้าน เศรษฐกิจ ใน 3 ประการ ประการแรก สินค้าเกษตรกรสามารถจำหน่ายได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความ ยากจนของเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ และผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs ได้มีช่องทางการตลาด ที่สามารถ เข้าถึงผู้บริโภคอีกทางเลือกหนึ่ง ประการที่ 2 การรักษาส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าเกษตร แปรรูปไทยในธุรกิจค้าปลีกของประเทศ ประการที่ 3 การปลูกจิตสำนึกการพึ่งพาและร่วมมือกันของประชาชน ที่หันมาศรัทธา และไว้วางใจที่จะอุดหนุนสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรมในร้าน Farmer Shop ตลอดไป

Interier

โครงการ Farmer Shop จะมุ่งเน้นไปที่การนำทุนความรู้ ทุนทางสังคมและทุนทรัพยากรที่เป็นผลผลิต งานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยคาดหวังจะนำไปสู่การสร้างระบบธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ ในทิศทางของการ จัดการโซ่อุปทานอย่างบูรณาการ ในกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป เพื่อการรักษาส่วนแบ่ง การตลาดของสินค้าเกษตร แปรรูปในสภาวะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับคู่แข่งทางการค้าจากต่างประเทศ ในยุคเปิดเสรีอาเซียน อีกทั้งการ ลดข้อจำกัด/อุปสรรคของสินค้าเกษตรแปรรูปเป็นเรื่องการพัฒนาช่องทางการตลาด เพื่อการเข้าถึงผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการนำไปใช้ประโยชน์ โดยการดำเนิน การโครงการจะใช้ระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี เพื่อนำไปสู่การขยายผลการจัดตั้งและดำเนินงาน Farmer Shop ในชุมชน สหกรณ์และผู้ประกอบการรายย่อยต่อไป

ผลการดำเนินงาน 1 ปี ที่ผ่านมา มีสมาชิกเครือข่ายผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดสรรจำนวน 140 ราย มีสินค้าที่ ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดสรรสินค้า โครงการ Farmer Shop จำนวน 227 รายการ มีผู้สนใจ เข้ามาเป็นสมาชิกสังคมข้อมูลข่าวสารในเครือข่าย Facebook Farmer Shop จำนวน 820 ราย ปัจจุบัน สถาบันฯ ได้เปิด Outlet โครงการ Farmer Shop ณ ร้านสหกรณ์ผู้ปฎิบัติงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย จำกัด Outlet โครงการ Farmer Shop ณ ร้านไร่สุวรรณ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และได้ เปิดดำเนินการโครงการร้าน Farmer Shop นำร่องแห่งแรก ณ คณะเศรษฐศาสตร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2554 ซึ่งการรวมพลังในการขับเคลื่อนโครงการ Farmer Shop นั้น ช่วยยกระดับความสามารถ ในอำนาจการต่อรองแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายการตลาดได้ 15-20% นอกจากนั้น ยังช่วยเปิดโอกาสและช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ SMEs และสถาบันเกษตรกร ในการสร้างแบรนด์ "Farmer Shop" ร่วมกัน

กระบวนการดำเนินงานโครงการ Farmer Shop ได้ถูกออกแบบในรูปของการวิจัยเชิง ปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มี 5 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 : การสร้างเครือข่ายอุปทานในสินค้า 3 หมวด (อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และของใช้-ของ ที่ระลึก)
ขั้นตอนที่ 2 : การพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพมาตรฐาน และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ภายใต้ภาคีหน่วยงาน พันธมิตร ได้แก่ สถาบันอาหาร สถาบันค้นคว้าและ พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร
ขั้นตอนที่ 3 : การพัฒนาระบบบริหารจัดการโซ่ อุปทาน (ระบบผลิต-จัดหา-ส่งมอบ-ตรวจสอบย้อนกลับ)
ขั้นตอนที่ 4 : การพัฒนาระบบบริหารจัดการร้านค้าปลีกเพื่อจำหน่ายสินค้าในราคาเป็นธรรม
ขั้นตอนที่ 5 : การสร้างแบรนด์ Farmer Shop ภายใต้แนวคิด “ร้านค้าปลีกทางเลือกที่มีสินค้ามีคุณภาพ ราคาเป็น ธรรม และเป็นสินค้าของคนไทย” ไม่ได้หวังที่กำไร แต่อยากให้เป็นลูกค้าประจำ

รูปภาพกระบวนการดำเนินงานโครงการ Farmer Shop

รายชื่อคณะกรรมการบริหารโครงการร้าน Farmer Shop

1. คุณกาญจนา คูหากาญจน์ ประธานกรรมการ (ชาเขียวใบหม่อนกาญจนา)
2. คุณบรรหาร แสงฟ้าสุวรรณ รองประธานกรรมการ (กล้วยอบเล็บมือนาง ศรีภา)
3. คุณสุขุม ไวทยธำรงค์ กรรมการ (บริษัท แม่เกตุ อุตสาหกรรมอาหารไทย จำกัด)
4. คุณสมพงษ์ ชุ่มเพ็งพันธ์ กรรมการ (ร้านชมพูพันทิพย์)

กิจกรรมโครงการร้าน Farmer Shop

• งานวันธุรกิจการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มก.
ระหว่างวันที่ 1-2 มกราคม 2553
• พิธีเปิดตลาดสุขใจอย่างเป็นทางการ
วันที่ 12 ธันวาคม 2553
• เปิดบู๊ทร้าน Farmer Shop ร้านสหกรณ์ กฟฝ.
ระหว่างวันที่ 5-7 มกราคม 2554
• งานเกษตรแฟร์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน
ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-5 มี.ค. 2554
• เปิดบู๊ท Food Safety Healthy Life
เดอะมอลล์ บางกะปิ
ระหว่างวันที่ 17-23 มีนาคม 2554
• เปิดบู๊ทโครงการร้าน Farmer Shop
ที่ไร่สุวรรณ จ.นครราชสีมา
17 ธันวาคม 2554
• เปิดบู๊ทโครงการของขวัญปีใหม่ คณะเศรษฐศาสตร์
ระหว่างวันที่ 19-29 ธันวาคม 2554
• เปิดบู๊ทสัปดาห์อาหารเพื่อสุขภาพ คณะเศรษฐศาสตร์
ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์-9 มีนาคม 2555
• เปิดบู๊ทจำหน่ายผลไม้จากเกษตรกร
หน้าร้าน Farmer Shop คณะเศรษฐศาสตร์
12 มิถุนายน 2555
• นิทรรศการ งานมหกรรมวิชาการ สกว.
ฮอลล์ 7-8 อิมแพ็คเมืองทองธานี
ระหว่างวันที่ 20-24 มิถุนายน 2555